รู้ทันมะเร็งลำไส้ใหญ่


มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่เติบโตช้า ทำให้ไม่มีอาการ แต่พอมะเร็งมี ขนาดใหญ่ขึ้น หรือลุกลามไปนอกลำไส้ใหญ่ จึงจะแสดงอาการ ดังนั้นกว่าจะตรวจวินิจฉัยได้ก็เป็นระยะท้ายๆ ไปเสียแล้ว
สถานการณ์มะเร็งลำไส้ใหญ่ของไทยพบบ่อยเป็นอันดับ 3 และมี แนวโน้มจะเพิ่มขึ้น แต่ข่าวดีคือมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถป้องกันได้และรักษาให้หายได้ ถ้าตรวจพบในระยะแรก อาการที่พบได้บ่อยมี ดังนี้
1.ภาวะเลือดออกทางเดินอาหารหรือภาวะซีด เนื่องจากเนื้อร้ายมีหลอดเลือดมาเลี้ยงเยอะทำให้เลือดออกเองที่ผิวได้ง่าย หรือเวลาอุจจาระครูดผ่านก็จะเกิดเลือดออกได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการอ่อนเพลีย ซีด เนื่องจากเสียเลือดเรื้อรัง หรือตรวจสุขภาพประจำปีพบเลือดแฝงในอุจจาระเท่านั้น หากเนื้องอกมีขนาดใหญ่จะมีเลือดออกปริมาณมากพอสมควร จึงจะทำให้ผู้ป่วยสังเกตเห็นเลือดปนออกมาในอุจจาระ
2.การขับถ่ายผิดปกติจากเดิม เป็นได้ทั้งท้องผูก ท้องเสีย ปวดเบ่ง ถ่ายไม่สุด หรือลำของอุจจาระมีขนาดเล็กลง เกิดจากเนื้อร้ายมีขนาดโตมาก จนเริ่มเกิดการอุดตันของลำไส้ใหญ่ ทำให้อุจจาระผ่านไปได้ลำบากจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการท้องผูกเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยบางรายท้องเสียสลับท้องผูก ขนาดของอุจจาระเล็กลง บางครั้งจะพบอาการปวดท้อง ปวดเบ่งๆ เหมือนถ่ายอุจจาระไม่สุด
ในทางกลับกันผู้ป่วยบางรายมาด้วยท้องเสีย ถ่ายบ่อยขึ้น บางครั้งมีมูกปน เนื่องมาจากเนื้อร้ายผลิตเยื่อเมือกออกมาและกระตุ้นการถ่าย หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้น แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที
ข้อมูลสถิติในไทย พบว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดได้บ่อยในอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป โดยความเสี่ยงนี้จะมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น เพศชายจะมีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าเพศหญิงประมาณ 2.5 เท่า การที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าคนที่ไม่มีประมาณ 3 เท่า
นอกจากนี้ การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยคนที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ประมาณ 2 เท่า
กว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่จะแสดงอาการ ผู้ป่วยมักจะเป็นมะเร็งในระยะท้ายๆ ไปเสียแล้ว แต่ปัจจุบันมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ และการตรวจคัดกรองมะเร็งชนิดนี้นอกจากเพื่อตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเริ่มแรกแล้ว ยังสามารถป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อีกด้วย เนื่องจากหากพบติ่งเนื้อที่จะมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และตัดติ่งเนื้อออก จะลดอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
สำหรับการตรวจคัดกรอง คนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป หรือคนที่มีญาติพี่น้องเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แนะนำให้เริ่มตรวจที่อายุของญาติเมื่อตอนเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ลบออกไป 10 ปี เช่น หากคุณพ่อเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่ออายุ 45 ปี ลูกๆ ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 35 ปี เป็นต้น
การตรวจคัดกรองมีแพร่หลายอยู่หลายวิธี ซึ่งจะมีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกันไป ได้แก่ การเก็บอุจจาระตรวจ เพื่อหาเลือดแฝงที่ออกมากับอุจจาระ วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่าย สะดวก และราคาถูก หากผลเป็นบวกแสดงว่า มีเลือดออกทางเดินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบริเวณลำไส้ใหญ่ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการส่องกล้องทางเดินอาหารเพื่อหาสาเหตุต่อไป
การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการตรวจหาติ่งเนื้อ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะสามารถเห็นลำไส้ใหญ่ได้ทั่ว และหากพบติ่งเนื้อก็สามารถตัดติ่งเนื้อออก หรือหากเจอเนื้องอกก็สามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจวินิจฉัยไปได้ทันที
อย่างไรก็ตาม การตรวจวิธีนี้มีข้อด้อยกว่าการตรวจวิธีแรก เนื่องจากต้องมีการเตรียมตัวก่อนส่องกล้อง และต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินอาหาร หากเตรียมลำไส้ใหญ่เป็นอย่างดี ทำให้เห็นลำไส้ได้ชัดเจน และหากผลการตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆ แนะนำให้ตรวจซ้ำอีกครั้งในปีที่ 10 ปี
จะเห็นว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นภัยเงียบใกล้ตัวและคนที่เรารัก หากไม่ตรวจและรอให้มีอาการผิดปกติมักจะเป็นมะเร็งระยะท้ายๆ เสียแล้ว ดังนั้นควรตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เสียตั้งแต่ยังไม่มีอาการจะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคนี้ได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
โดย : พญ.สติมัย อนิวรรณน์ อาจารย์สาขาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถ้าชอบช่วยกดถูกใจ ถ้าใช่แชร์ต่อให้เพื่อนเลย!!!


 
Copyright © 2016. We Love Phanatnikhom.
Design by Herdiansyah Hamzah. & Distributed by Free Blogger Templates
Creative Commons License