อบเชยรักษาโรคไขมันพอกตับ

ผู้คนมักเข้าใจผิดว่ายุคนี้เป็นยุคอยู่ดีกินดี ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดมาก เพราะที่ถูกควรจะเรียกว่าเป็นยุคอาหาร ขยะ (Junk Food) ครองเมืองมากกว่า ซึ่งฝรั่งเองเขาก็ให้นิยามจั๊งก์ฟู้ดว่าเป็นอาหารรสชาติดี แคลอรีสูง แต่คุณค่าอาหารน้อยมาก หรือไม่มีคุณค่าทางอาหารเลย
          ทั้งที่ผู้บริโภคก็รู้กันมานานแล้วว่าอาหารขยะหวานมันเค็มแคลอรีสูงเหล่านี้ทำให้เกิดโรคอ้วนซึ่งเริ่มเป็นกันมากตั้งแต่วัยเด็ก แต่เพราะใช้กลยุทธ์ทางการตลาดสร้างค่านิยมเป็นแฟชั่นการบริโภคโดยไม่มีการควบคุมการโฆษณา วัฒนธรรมบริโภคอาหารขยะจึงก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมายในสังคมยุคใหม่
          โรคอ้วน (Obesity) หรือภาวะน้ำหนักมากเกินที่มีตัวเลขดัชนีมวลกายมากกว่าค่า 25 ขึ้นไป ไม่เพียงเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคหัวใจเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดภาวะโรคไม่ติดต่อที่ร้ายแรงชนิดหนึ่งคือ โรคไขมันพอกตับ (Fatty Liver Disease หรือโรค FLD) อันเกิดจากการที่ไขมันสะสมอยู่ในเนื้อตับ ซึ่งในระยะที่ยังไม่มีพังผืดเกิดขึ้นในตับและไม่มีการอักเสบก็จะไม่มีอาการใดๆ ปรากฏออกมา
          แต่ถ้าเริ่มมีอาการปวดแน่นชายโครงขวาบ่อยๆ และมีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วยก็ให้สงสัยว่าเริ่มมีพังผืดในตับ และเริ่มมีการอักเสบตามมา ควรไปพบแพทย์เจาะเลือดตรวจค่าเอ็นไซม์ตับได้เลย
คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าโรคไขมันพอกตับเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น ซึ่งก็เป็นความจริงครึ่งหนึ่ง เพราะร้อยละ 57.7 ของผู้ดื่มเหล้าเป็นประจำจะเกิดภาวะไขมันพอกตับที่เกิดจากพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholic - FLD)
          สำหรับคนที่ไม่เคยดื่มเหล้าเลย แต่ดัชนีมวลกายเกิน 25 หรือเป็นเบาหวาน และไขมันในเลือดสูง มีโอกาสเกิดไขมันพอกตับสูงถึงร้อยละ 90 ซึ่งเรียกว่าเป็นภาวะไขมันพอกตับที่ไม่เกิดจากพิษสุรา (Non-Alcoholic - FLD)
          กลไกการเกิดไขมันพอกตับทั้ง 2 อย่าง เกิดจากกลไกการสังเคราะห์ไขมันในตับผิดปกติ ทำให้ไขมันจำพวกไตรกลีเซอไรด์เข้าไปแทรกอยู่ในเซลล์ตับมีน้ำหนักเกินกว่าร้อยละ 5 ของตับ ทำให้ตับทำงานผิดปกติ เกิดตับอักเสบ ตับแข็ง และเป็นมะเร็งตับได้ เดี๋ยวนี้พบว่าวัยรุ่นที่อ้วนมีภาวะโรคไขมันพอกตับสูงกว่าวัยรุ่นที่น้ำหนักปกติถึง 15-20 เท่า และพบว่าเด็กอ้วนที่ป่วยด้วยโรคไขมันพอกตับจนตับแข็งตั้งแต่อายุแค่ 8 ขวบเท่านั้น
          ในที่นี้ขอแนะนำสมุนไพรเครื่องเทศที่ใช้เป็นทั้งยาและอาหารเพื่อป้องกันและรักษาโรคไขมันพอกตับได้ผลดีคือ เปลือกอบเชย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cinnamomum verum J. Presl
ก่อนหน้านี้เคยมีผลการวิจัยการใช้เปลือกอบเชยรักษาเบาหวานได้ผลดีมาแล้ว จึงมีการวิจัยขยายผลต่อเนื่องพบว่าผู้ป่วยเบาหวานมักมีความเสี่ยงเป็นภาวะไขมันพอกตับด้วย มีการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบการใช้อบเชยกับยาหลอกในผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับชนิดที่ไม่ได้เกิดจากพิษแอลกอฮอล์ (Non Alcoholic FLD) จำนวน 55 คน
          โดยให้รับประทานยาอบเชยผงบรรจุแคปซูลขนาด 750 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 แคปซูล เช้าเย็น ก่อนอาหาร โดยเทียบกับยาหลอกด้วยวิธีใช้อย่างเดียวกันเป็นเวลา 12 สัปดาห์ หรือ 84 วัน
          ผลปรากฏว่าภาวการณ์ดื้ออินซูลินลดลงอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งไขมันในเลือด ไตรกลีเซอไรด์ลดลงโดยที่ไม่มีผลทำให้ไขมันในเลือดชนิดดีลดลงแต่อย่างใด
          ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่าผงอบเชยขนาดรับประทานวันละ 1,500 มิลลิกรัม สามารถรักษาภาวะโรคไขมันพอกตับได้ผลดี โดยไม่มีพิษข้างเคียงใดๆ และสามารถใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาภาวะโรคนี้ด้วย
          ยิ่งกว่านั้นการรับประทานอบเชยผงวันละ 1 แคปซูล ขนาด 500-750 มิลลิกรัม ก็ช่วยยับยั้งป้องกันกลไกการสังเคราะห์ไขมันในตับผิดปกติ
          อบเชยเป็นสมุนไพรที่หาง่าย ทั้งยังเป็นเครื่องเทศปรุงรสอาหารที่คนไทยคุ้นเคยในพะโล้ที่กินกันประจำ หรือที่นิยมดื่มกาแฟโรยผงซินนาม่อน จึงน่าจัดให้เป็นหนึ่งในสมุนไพรใกล้ตัวหรือประจำครอบครัวไว้ใช้ได้สะดวก
          แต่ผู้ที่ชื่นชอบสมุนไพรก็ควรเข้าใจด้วยว่า มาตรการที่สามารถป้องกันรักษาภาวะโรคไขมันพอกตับระยะยาวได้ผลดีที่สุดก็คือ การลดน้ำหนักจนกระทั่งค่าดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 18-22 นั่นคือลดละเลิกอาหารขยะหรือจำพวกอาหารหวานจัด มันจัด และเค็มจัด
          โรคไขมันพอกตับเป็นมฤตยูเงียบที่ก่อตัวขึ้นในอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดภายใต้ชายโครงขวาของเรา ถ้าเริ่มรู้สึกแน่นหรือปวดเล็กๆ น้อยๆ บริเวณนี้เรื้อรังเป็นสัปดาห์แม้ร่างกายพอทนได้ก็อย่าทนต่อไป ต้องรีบไปพบแพทย์ตรวจหาสาเหตุของอาการ เพราะถ้าปล่อยให้มีอาการนี้นานกว่า 6 เดือน ภาวะโรคอาจลุกลามจนแก้ไขให้กลับคืนเป็นปกติได้ยาก ดังนั้น มาป้องกันรักษาสุขภาพตับให้แข็งแรง อย่าปล่อยปละละเลยจนเกิดโรคตับแข็ง

ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์

 
Copyright © 2016. We Love Phanatnikhom.
Design by Herdiansyah Hamzah. & Distributed by Free Blogger Templates
Creative Commons License